วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552


ในบรรดานักวิทยาศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 19-20 ไอน์สไตน์ถือว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และอาจกล่าวได้ว่า เขาคือผู้ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยระเบิดปรมาณูอันทรงอานุภาพแห่งการทำลายล้าง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ไอน์สไตน์ ได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งถึงประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ (Franklin Delano Roosevelt) เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของแร่ยูเรเนียมที่สามารถนำมาสร้างลูกระเบิดพลังงานการทำลายสร้างรุนแรง เพื่อบังคับให้ญี่ปุ่นประกาศแพ้สงคราม และนำสันติภาพมาสู่โลกอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงตกลงทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลกลงที่เมืองฮิโรชิมา (Hiroshima) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้คนเสียชีวิตทันทีกว่า 60,000 คน และเสียชีวิตภายหลังอีกกว่า 100,000 คน ไอน์สไตน์เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ.1879 ที่เมืองอูล์ม ประเทศเยอรมนี ไอน์สไตน์เป็นชาวเยอรมันแต่ก็มีเชื้อสายยิวด้วย บิดาของไอน์สไตน์เป็นเจ้าของร้านจำหน่ายเครื่องยนต์และสารเคมี ชื่อว่า เฮอร์แมน ไอน์สไตน์ (Herman Einstein) ต่อมาเมื่อ ไอน์สไตน์อายุได้ 1 ขวบ บิดาได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองมิวนิค ซึ่งคนส่วนใหญ่ในเมืองเป็นชาวยิวเช่นเดียวกับเขา ทำให้เขาไม่มีปัญหากับเพื่อนบ้าน ไอน์สไตน์เป็นเด็กที่เงียบขรึม และมักไม่ค่อยชอบออกไปเล่นกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน จนบิดาเข้าใจว่าเขาเป็นคนโง่ จึงได้จ้างครูมาสอนพิเศษให้กับไอน์สไตน์ที่บ้าน โดยเฉพาะเรื่องการพูด ถึงแม้ว่าการพูดของเขาจะดีขึ้น แต่เขาก็ยังเงียบขรึม และไม่ออกไปเล่นกับเพื่อนเหมือนเช่นเคย เมื่อไอน์สไตน์อายุได้ 5 ขวบ บิดาได้ส่งเข้าโรงเรียนที่ยิมเนเซียม (Gymnasium) นักเรียน ในโรงเรียนแห่งนี้ทั้งหมดเป็นชาวเยอรมัน และนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ถึงอย่างนั้นไอน์สไตน์ก็เข้ากับเพื่อนได้ดี แต่สิ่งที่เขาไม่ชอบมากที่สุดในโรงเรียนก็คือการสอนที่น่าเบื่อหน่าย ที่ใช้วิธีการท่องจำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีการที่เขาเกลียดที่สุดทำให้ไอน์สไตน์ไม่อยากไปโรงเรียน มารดาจึงหาวิธีแก้ปัญหาให้ไอน์สไตน์ โดยการให้เขาเรียนไวโอลินและเปียโนแทน แต่วิชาที่ไอน์สไตน์ให้ความสนใจมากที่สุดคือ คณิตศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาเรขาคณิตเป็นวิชาที่เขาชอบมากที่สุด ทำให้เขาละทิ้งวิชาอื่นยกเว้นวิชาดนตรี และเรียนวิชาอื่นได้แย่มาก แม้ว่าจะทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ได้ดีมาก เขาก็มักจะถูกครูตำหนิอยู่เสมอ ต่อมาไอน์สไตน์อายุ 15 ปี กิจการโรงงานของพ่อเขาแย่ลง เนื่องจากการรวมตัวของบริษัทผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและเคมีหลายแห่งทำให้โรงงานของพ่อเขาไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ครอบครัวของเขาต้องย้ายไปอยู่ที่เมืองมิลาน (Milan) ประเทศอิตาลี (Italy)แต่ไอน์สไตน์ไม่ได้ย้ายตามไปด้วย เพราะยังติดเรียนอยู่ แต่ด้วยความที่เขาคิดถึงครอบครัวมาก หลังจากนั้นอีก 6 เดือน เขาได้วางแผนให้แพทย์ออกใบรับรองว่าเขาป่วยเป็นโรคประสาท เพื่อให้เขาได้เดินทางไปหาพ่อกับแม่ที่อิตาลี เมื่อเป็นเช่นนั้นไอน์สไตน์จึงเดินทางไปหาครอบครัวที่มิลาน แต่ก่อนที่เขาจะออกเดินทางเขาได้ขอใบรับรองทางการศึกษา เพื่อสะดวกในการเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนอื่น ต่อมาไอน์สไตน์ได้สอบเข้าเรียนต่อวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ที่วิทยาลัยโปลีเทคนิค เมืองซูริค (Federal Poleytechnic of Zurich) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไอน์สไตน์สอบวิชาคณิตศาสตร์ได้คะแนนดีมาก ส่วนวิชาชีววิทยาและภาษา ได้แย่มาก ทำให้เขาไม่ได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนในวิทยาลัยแห่งนี้ ต่อมาอีก 1 สัปดาห์ เขาได้รับจดหมายจากครูใหญ่วิทยาลัยโปลีเทคนิค ได้เชิญเขาไปพบและแนะนำให้เขาไปเรียนต่อ เพื่อให้ได้ประการศนียบัตร ซึ่งสามารถเข้าเรียนต่อวิทยาลัยโปลีเทคนิคได้โดยไม่ต้องสอบ หลังจากนั้นเขาจึงเข้าเรียนที่วิทยาลัยของสวิตเซอร์แลนด์ ตามหลักสูตร 1 ปี ระหว่างนี้เขาได้พักอาศัยอยู่กับครูผู้หนึ่งที่สอนอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ ไอน์สโตน์รู้สึกชอบวิทยาลัยแห่งนี้มาก เพราะการเรียนการสอนเป็นอิสระไม่บังคับ และไม่จำกัดมากจนเกินไป แนวการสอนเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามความสามารถของตน นอกจากนี้สภาพแวดล้อมในการเรียนยังดีมากดีด้วย เพราะได้มีการจัดห้องเรียนเฉพาะสำหรับแต่ละวิชา เช่น ห้องเรียนภูมิศาสตร์ก็มีภาพแผนที่ สถานที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แขวนไว้โดยรอบห้อง ส่วนห้องเคมีก็มีอุปกรณ์ในการทดลองวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย นอกจากนี้โรงเรียนแห่งนี้ยังมีนักเรียนจำนวนมาก ทำให้ไอน์สไตน์ไม่รู้สึกว่ามีปมด้อยที่เป็นชาวยิวอีกต่อไป หลังจากที่เขาจบหลักสูตรที่โรงเรียนมัธยม 1 ปี ไอน์สไตน์ได้เข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคในสาขาวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ตามที่ได้ตั้งใจไว้

วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552



ในทัศนะของชาวต่างประเทศต่างก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไป ทั้งๆที่ยอมรับโดยสนิทใจว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง เพราะพระองค์ทรงสามารถคำนวณและประกาศอย่างเป็นทางการไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ว่าจะมีสุริยุปราคาหมดดวงเห็นได้ในประเทศไทยและกำหนดสถานที่ ณ ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ริมฝั่งทะเลตรงข้ามเกาะจานไว้อย่างชัดเจนล่วงหน้าด้วย สำหรับฝรั่งเศส-เดิมเลือกที่ช่องแคบมะละกา ต่อมาให้เปลี่ยนอีกตามคำแนะนำของกงสุลฝรั่งเศสประจำประเทศไทยว่า ควรเป็นชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย ซึ่งทางฝรั่งเศสเองก็พยายามเที่ยวค้นหาที่จะดูหลายตำบล ตั้งแต่เมืองชุมพรขึ้นมาจนถึงเมืองปราณบุรีก็หาไม่ได้ ในที่สุดคณะวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสก็ขอพระบรมราชานุญาตมาตั้งโรงที่จะดูสุริยุปราคาในบริเวณค่ายหลวงตำบลหว้ากอ ต่ำลงไปทางใต้พลับพลาค่ายหลวงประมาณ 18 เส้น จึงประสบความสำเร็จด้วยพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยแท้
การเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ในเดือนสิงหาคม 2411 นั้น มีสิ่งสำคัญที่ควรทราบ คือ 1.ในห้วงเวลานั้นเป็นฤดูฝน พื้นภูมิประเทศเป็นป่าเขามีไข้ป่าชุกชุม การเดินทางก็ลำบากและต้องฟันฝ่าอันตรายมากเหตุใดจึงทรงมีพระราชอุตสาหะแรงกล้าถึงเพียงนั้น ก็เป็นเพราะว่าสุริยุปราคาที่จะเห็นได้หมดวงในประเทศไทยนี้ยังไม่เคยมีมาแต่ก่อน จนถึงในตำราโหรของไทยว่า สุริยุปราคาไม่มีที่จะหมดดวงได้ ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณทราบเป็นพระองค์แรกในประเทศหรือในโลกก็ได้ว่า จะเห็นสุริยุปราคาหมดดวงในประเทศไทย ณ ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ในวันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม 2411 โดยได้ทรงคำนวณสอบสวนกับตำราสารัมภ์ ไทย มอญ และของอังกฤษอเมริกันแล้วเป็นที่แน่ชัดจึงได้ทรงประกาศเป็นทางการล่วงหน้าก่อนถึง 2 ปี ด้วยเหตุนี้พระองค์มิได้ทรงเกรงความยากลำบากและอันตรายใดๆที่จะเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเพื่อทรงพิสูจน์ด้วยพระองค์เอง 2. การเตรียมสถานที่และเตรียมการด้านต่างๆนับเป็นเรื่องสำคัญมาก แสดงถึงความละเอียดรอบครอบและการที่ทรงมีวิจารณญาณ เห็นการณ์ไกลเกี่ยวกับเกียรติภูมิและความสัมพันธ์อันดีกับประเทศมหาอำนาจ เพื่อความมั่นคงและอนาคตของประเทศ ตามพระราชพงศาวดารกล่าวไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าที่สมุหพระกลาโหม ให้เป็นแม่กองไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับแรม ณ ตำบลหว้ากอ ตรงหน้าเกาะจานเข้าไปห่างจากคลองวาฬลงไปทางใต้ประมาณ 24 เส้น โดยให้จัดการจ้างคนในหัวเมืองเพชรบุรี เมืองปราณบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมืองกำเนิดนพคุณ เมืองประทิว และนายงานหลายนายทำการก่อสร้างค่ายหลวงพลับพลาที่ประทับและทำเนียบรับรองแขกเมือง สถานที่บริเวณก่อสร้างอยู่ริมหาด ซึ่งเป็นป่าไม้อยู่ก่อนแล้วมาแผ้วโก่นโค่นสร้างในคราวนี้ แล้วปลูกพลับพลาและทำเนียบเป็นอันมากสำหรับข้าราชการต่างๆในราชสำนักและแขกเมืองชาวยุโรปพักอาศัย สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินประทับในค่ายหลวงตำหนักที่ประทับทำด้วยไม้ชั่วคราว เป็นตำหนัก 3 ชั้นทำเนียบแห่งอื่นปลูกเป็นเรือนชั้นเดียวแต่ยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 3 ฟุตทุกหลังทำเนียบเหล่านี้สร้างด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกแทบทั้งหมด มุงด้วยจากบ้างใบตาลแห้งบ้าง ทำเนียบหมู่หนึ่งก็มีรั้วทำด้วยกิ่งไม้อย่างเรียบร้อย ล้อมรอบมิดชิดมองไม่เห็น และในบริเวณหรือลานทำเนียบมีโรงที่อยู่สำหรับคนใช้ และบริวารเป็นอันมาก ท้องพระโรงยาวประมาณ 80 ฟุต กว้าง 80 ฟุต อยู่ด้านตะวันออกของพลับพลาที่ประทับแรม มีพระทวารสองข้าง กับทั้งมีพระทวารที่ตรงกลางทางด้านยาว ซึ่งเป็นทางที่เข้าไปได้อีกช่วงหนึ่ง ที่ประทับยกพื้นสูงราว 3 ฟุต อยู่ใกล้ชิดกับพระทวารทางที่จะเข้าไปข้างในพลับพลาที่ยกพื้นกับรั้วลูกกรงทั้งเสาและผนังห้องท้องพระโรงดาดด้วยผ้าสีแดง มีพระเก้าอี้ตั้งอยู่บนราชบัลลังก์มีโต๊ะเล็กอยู่ทางขวา เต็มไปด้วยหีบทองและภาชนะบรรจุพระศรีพระโอสถ พระสุธารสและสิ่งของเครื่องราชูปโภคต่างๆ ทางในระหว่างพระทวาร และที่ประทับกันไว้เป็นช่องระหว่างสำหรับแขกเมืองเฝ้า และลองข้างช่วงนี้ในระยะประมาณครึ่งทาง เป็นที่ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่เข้าเฝ้า ทำเนียบของแขกฝรั่งยาวประมาณ 140 ฟุต กว้าง 50 ฟุต เป็น 2 หลังโดด หลังใหญ่มีห้องโถงอยู่กับพื้น สามารถจุคนในเวลาเลี้ยงได้ 40-50 คน และสองข้างยกพื้นสูงประมาณ 3 ฟุต ทำเป็นห้องเล็กๆเป็นแถวรวม 12 ห้อง สำหรับเป็นที่พักอาศัยของพวกผู้ว่าราชการ มุมสุดเป็นสถานที่เล็กๆหลังหนึ่ง มีห้องนอน 2 ห้อง ห้องแต่งตัว 2 ห้อง มีระเบียงเป็นห้องนั่งเล่น สำหรับ แขกได้สบาย เรือนตอนนี้ตีฝาและยกพื้นด้วยไม้จริง นอกนั้นทำด้วยไม้ไผ่ซีกทั้งสิ้น ด้านอาหาร มีผู้ว่าราชการ พระฤาษีสมบัติบริบูรณ์กับพ่อครัวจีน และข้าราชการรับหน้าที่จัดดูแลเรื่องอาหารเลี้ยงแขกเมืองและแขกฝรั่งทั้งหมดที่อยู่ในกรุงเทพ และที่รับราชการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับเชิญไปดูสุริยุปราคา และโปรพระราชทานเลี้ยงอาหารฝรั่งตลอด โดยพ่อครัวฝรั่งเศสพร้อมด้วยชาวอิตาลี 1 คน และลูกมือชาวเมืองอีกหลายคน การเลี้ยงดู ก็จัดอย่างบริบูรณ์และประณีต บรรดาของอร่อยที่จะสามารถหามาได้จากประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ กรุงเทพรวมทั้งเหล้า และเหล้าองุ่นต่างๆ น้ำแข็งก็มีบริบูรณ์ แขกฝรั่งพากันกล่าวว่า นับเป็นที่พักอาศัยอันอุดมที่สุดในป่าแห่งประเทศสยามทีเดียว 3. เครื่องมือและกล้องส่องดูดาว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเมอร์ซิเออร์ สเตฟาน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสที่เข้ามาตั้งเครื่องดูสุริยุปราคาที่หว้ากอ มีความเห็นว่า กล้องของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีคุณภาพดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับว่าวิเศษสำหรับประเทศสยาม พระองค์ทรงสนพระทัยยิ่งในวิชาดาราศาสตร์ และพระองค์ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า พระองค์ทรงรอบรู้วิชาวิทยาศาสตร์ลึกซึ้งเพียงใด แต่ พระองค์ ทรงถ่อมพระองค์มาก การเสด็จมาหว้ากอครั้งนี้ก็เพราะแรงผลักดันที่จะได้ทรงพิสูจน์การศึกษาแนวทางวิทยาศาสตร์ของพระองค์เป็นประการหนึ่ง 4. การที่ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เชิญ เซอร์ แฮรี่ ออด ผู้สำเร็จราชการมลายูของอังกฤษซึ่งประจำอยู่ ณ เมืองสิงคโปร์ และภริยามาเป็นอาคันตุกะส่วนพระองค์ และทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส เข้ามาตั้งกล้องส่องดูดาวร่วมด้วยได้ที่ตำบลหว้ากอ โดยมีเครื่องกล้องใหญ่น้อยหลายอย่างที่ทันสมัย ประมาณ 50 อันเศษ นับเป็นวิเทโศบายอันชาญฉลาดที่ได้ทรงสร้างสัมพันธ์ไมตรีกับอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ในยุโรป อย่างมีเกียรติและสมศักดิ์ศรียิ่งโดยเฉพาะได้ทรงเปลี่ยนแปลงปรับปรุงขนบธรรมเนียมเก่าที่ฝรั่งเห็นว่าเป็นเครื่องถ่วงความเจริญ ซึ่ง เซอร์ แฮรี่ ออด มีข้อสังเกตว่าในพระราชสำนักได้เปลี่ยนแปลงอย่างมาก มิเคยปรากฏมาแต่ก่อนเช่น การเปิดพระราชมนเทียรพระราชทานให้แขกเมืองเข้าไปได้ไม่หวงห้าม โปรดให้พบปะกับฝ่ายในให้ออกมารับแขกเมืองโดยเปิดเผย ส่วนเจ้านายในราชสกุลที่ทรงพระเยาว์ก็ทรงยอมให้สมาคมกับแขกเมืองได้อย่างฉันมิตรสนิทสนม พระเจ้าแผ่นดินและขุนนางของพระองค์ สมาคมกับแขกเมืองอย่าง ยอมให้อิสระเท่าเทียมกัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นับเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งฝรั่งเห็นว่าเป็นประเทศหนึ่ง ในชนชาติที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก เหตุการณ์ที่ฝรั่งได้มาประสบพบเห็นด้วยตนเองนี้ ทำให้ชาวฝรั่งเกิดความประทับใจ และมั่นใจว่าประเทศไทยมีทางจะก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีนโยบายปิดประตู และมีการสมาคมกับชาวฝรั่งอย่างมีเกียรติ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรและทรงศึกษาเครื่องมือและกล้องส่องดูดาว ตลอดจนเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยของอังกฤษ และฝรั่งเศสพร้อมกันไป นับว่าเป็นประโยชน์ในการที่จะพัฒนา วิชาวิทยาศาสตร์ให้เจริญก้าวหน้าต่อไปด้วย คณะกรรมการสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้เพียรพยายามที่จะหาหลักฐานต่าง ๆ เพื่อจะชี้ให้เห็นชัดเป็นข้อยุติ ว่า ณ ที่ใดที่บ้านหว้ากอ (ในปัจจุบันนี้) เป็นที่ตั้งค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับแรมที่ทรงกล้องทอดพระเนตรสุริยุปราคาจึงได้ ออกกันไปศึกษาสภาพพื้นที่ 2-3 ครั้ง ครั้งหลังเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2524 คณะที่ออกไปสำรวจร่วมกับทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เท่าที่จำได้มี ดร. ระวี ภาวิไล ดร. ประโชติ เปล่งวิทยา ดร. ทวีศักดิ์ ปิยะกาญจน์ ดร. ขาว เหมือนวงศ์ ดร. ธีระชัย ปูรณโชติ คุณระรินทิพย์ ทรรทานนท์ ทางจังหวัดประจวบ ฯ ก็มี ข้าพเจ้าผู้ว่าราชการจังหวัด ฯ ศึกษาธิการจังหวัด ผู้ช่วยศึกษา ธิการจังหวัดนายอำเภอเมือง เป็นต้น ดังปรากฏในภาพ ทั้งทางพื้นดินและทางอากาศประกอบ ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ชัดเจนนัก เพราะยังหาหลักฐานสำคัญ ๆ ไม่พบ แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่าเป็นบริเวณนั้น ๆ ซึ่งก็ใกล้เคียงมาก และทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในเรื่องหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการสร้างสวนสาธารณะ หรือสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ รวมในที่เดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในปลายปี 2525 นี้